กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ขณะนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ การลงพระปรมาภิไธย และการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ และจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นไป
พระราชบัญญัตินี้ จะมีผลกระทบกับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โดยทั่วไป เพราะหากท่านทำให้เกิดการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (ไม่ว่าจะบังเอิญหรือตั้งใจ) ก็อาจจะมีผลกับท่าน และที่สำคัญ คือผู้ให้บริการ ซึ่งรวมไปถึงหน่วยงานต่างๆที่เปิดบริการอินเทอร์เน็ตให้แก่ผู้อื่นหรือ กลุ่มพนักงาน/นักศึกษาในองค์กร ท่านมีหน้าที่หลายอย่าง ในฐานะ "ผู้ให้บริการ" ท่านควรทราบใน สิ่งที่ต้องเตรียมตัวเมื่อ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ใช้บังคับ
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:  http://www.etcommission.go.th/
ความเป็นมาของการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศไทย
เพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายรองรับสังคมสารสนเทศ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงอยู่ของสังคมในศตวรรษที่ ๒๑ ใน พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้น 6 ฉบับ โดย ๓ ฉบับแรก เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในเชิง สร้างสรรค์ อันเอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ส่วนกฎหมายในลำดับที่ ๔ และลำดับ ๕ เป็นกฎหมายที่จะใช้เป็นมาตรการในการคุ้มครองหรือปกป้องสังคมจากการประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในเชิงไม่สร้างสรรค์ และฉบับสุดท้ายเป็นกฎหมายฉบับที่จะสร้างกลไกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สารสนเทศ โดยกฎหมายดังกล่าวปรากฏตามรายการ ดังต่อไปนี้
  • กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับผลทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๕ และมีการตั้ง คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเพื่อดำเนินการต่างๆต่างพระราชบัญญัตินี้(อ่าน ตัวพรบ.นี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔)
  • กฎหมายลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับผลทางกฎหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้มีการจัดทำแยกเป็นอีกหนึ่งฉบับ เพราะได้มีการรวมหลักการไว้กับกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๕
  • กฎหมายการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้มีการจัดทำขึ้นเพื่อรองรับการโอนเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เดิมจะพัฒนาเป็นกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติ แต่หลังจากที่มีการดำเนินงานของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว คณะกรรมการฯได้จัดทำเป็นกฎหมายลำดับรองภายใต้มาตรา ๓๒ ของกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แทน เรียกว่าร่างพระราชกฤษฎีกากำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... เพื่อให้คล่องตัวและเร็วขึ้นกว่าการทำเป็นพระราชบัญญัติ ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้รับหลักการและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
  • กฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษสำหรับการกระ ทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อผ่านการรับหลักการของคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่การพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน)แล้ว ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่า การกระทำบางลักษณะไม่น่าจะเป็น “อาชญากรรม Crime)”) ร่างกฎหมายนี้ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปเมื่อวันที่ ๑๕ พ.ย. ๒๕๔๙ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (อ่านตัวร่าง พ.ร.บ. นี้ ร่าง พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ผ่าน สคก.แล้ว)
  • ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... ได้จัดทำขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นส่วนตัว โดยมุ่งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่อาจมีการละเมิดและสามารถนำไปใช้ในทางมิชอบได้โดยง่าย (ในการทำธุรกรรมทางออนไลน์หรือการใช้อินเทอร์เน็ต) ทั้งนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ให้ความเห็นชอบให้สนง.ปลัดนายก รัฐมนตรี (โดยสนง.ข้อมูลข่าวสารของราชการ) ทำหน้าที่รวมร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้ากับร่างกฎหมายที่จัดทำโดยสขร. โดยยังคงยืนยันให้มีการจัดตั้งสำนักงานที่จะดูแลการคุ้มครองข้อมูลส่วน บุคคลอยู่ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร